Sunday, March 29, 2015

เตือนกายบริหารสะบัด หัก บิดคอเสี่ยงตาบอด-อัมพฤกษ์

เนชั่นทันข่าว 16:16 น.
เตือนกายบริหารสะบัด หัก บิดคอเสี่ยงตาบอด-อัมพฤกษ์

เมื่อวันที่ 25 มี.ค.2558 ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แพทย์ด้านสมองได้มีการศึกษาและเฝ้าระวังเรื่องการบริหารคอด้วยการสะบัดคอ หมุนคอ เอียงคอ โดยเฉพาะการบริหารร่างกายด้วยหมุนคอเป็นประจำเช่น เช้า 30 รอบ เย็น 30 รอบ ถือเป็นท่ากายบริหารที่ร้ายแรง ส่งผลให้เส้นเลือดคู่หลังก้านคอถูกเส้นเอ็น และกระดูกเข้าไปกระแทกจนผิวเส้นเลือดชั้นในฉีกขาด ตีบตันและทำให้เป็นอัมพฤกษ์

ส่วนการทำกายภาพบำบัดด้วยการนวดไคโรแพรกเตอร์ที่มีการบิดคอ หักคอเพื่อให้กระดูกเข้ารูปนอกจากจะทำให้เส้นเลือดคู่หลังฉีกขาดแล้ว ยังทำให้เส้นเลือดคู่หน้าที่ทำหน้าที่ส่งเลือดไปเลี้ยงสมองทางด้านหน้าและสมองใหญ่ฉีกขาดด้วย

“นอกจากนี้ ยังพบว่าการนวดแผนไทยตามร้าน โดยเฉพาะการกดจุด เปิดปิดประตูลม บริเวณท้ายทอยนั้นจะปิดการทำงานของเส้นเลือดคู่หลังไม่ให้ส่งเลือดไปเลี้ยงสมอง
สมองส่วนการรับจอภาพนั้นเกิดการมืดลง คนเราจะมองไม่เห็น เมื่อปล่อยถึงกลับมาสว่างว้าบอีกครั้ง ตรงนี้หากคนที่ความผิดปกติของเส้นเลือดอยู่แล้วหรือกดนานเกิดไป อาจจะทำให้เกิดภาวะตาบอดชั่วคราวนาน 2-3 วัน หรือในกรณีที่มีปัญหาเส้นเลือดตีบตันอยู่เดิมอาจจะทำให้เกิดภาวะตาบอดถาวรได้ และเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงมานานแล้ว มีรายทั้งในวารสารต่างประเทศ และพบผู้ป่วยลักษณะดังกล่าวในประเทศไทยด้วยเช่นเดียวกัน
ดังนั้นหากไปนวดอาจจะต้องกำชับหมอนวดให้ละเว้นบริเวณท้ายทอยเอาไว้”
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวอีกว่า การบริหารคอที่เหมาะสมโดยไม่เป็นการทำร้ายเส้นเลือดหรือเส้นประสาทคือตั้งคอตรง หน้าตรง ดันศีรษะสู้กับฝ่ามือตัวเอง ทั้ง 4 ทิศ ซ้าย ขวา หน้า หลัง ถือเป็น 1 รอบ ตอนที่ดันคอจะอยู่กับที่ ไม่เคลื่อนที่ไปไหน จึงไม่กระทบกับเส้นเลือดและเส้นประสาท โดยควรทำเช่นนี้วันละประมาณ 20-30 รอบ ทำตอนไหนก็ได้ ไม่ต้องทำต่อเนื่องก็ได้
กลไกตรงนี้เมื่อดันแล้วจะทำให้กล้ามเนื้อคอแข็งแรง จากนั้น กล้ามเนื้อคอจะจัดกระดูกต่างๆ ให้เข้าที่ แต่ต้องใช้เวลา ทำสม่ำเสมอ
การดันคอ 4 ทิศ มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการที่ไปดึงคอเพื่อจัดกระดูก

“เรื่องนี้มีการตระหนักเรื่องนี้มานานแล้ว แต่ในประเทศไทยยังไม่เชื่อ ดังนั้นการเปลี่ยนวิธีการทางการแพทย์ อาจจะทำได้ยาก แต่อาจจะเริ่มต้นจากทางเวชศาสตร์การกีฬา ครูพละศึกษา รวมถึงฟิตเนสด้วย ให้ละเว้นท่าหันคอ บิดคอ เอียงคออย่างซ้ำๆ แล้วเปลี่ยนมาเป็นการบริหารท่าที่แนะนำไปนั้น ถ้าเปลี่ยนรูปแบบได้ก็น่าจะเป็นผลดี ไม่ต้องรอให้เกิดเรื่องก่อนแล้วค่อยมาแก้”

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวในที่สุด

วันที่โพสข่าว : 25 มีค. 2558 เวลา 16:16 น.

No comments:

Post a Comment