Monday, August 16, 2010

โรคขัอเข่าเสื่อม รักษาไม่หาย แต่ป้องกันได้

โรคข้อเข่าเสื่อม อาจเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ ส่วนมากมักเกิดในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป โดยเป็นการเสื่อมสภาพของกระดูกตามธรรมชาติ แต่ใครจะรู้ว่าด้วยวัยเพียง 30 ปี เราก็มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้เช่นกัน หากไม่หาทางป้องกันแต่เนิ่นๆ ก็อาจจะสายเกินแก้และต้องเสียค่าใช้จ่ายมากมายในการรักษาให้หายได้

แพทย์ทางไคโรแพคติคกล่าวว่า อาการที่บ่งชี้ถึงการเป็นโรคข้อเข้าเสื่อมก็คือ อาการปวดข้อเข่า ข้อติด ข้ออักเสบ บวม อาจมีเสียงลั่นดังในข้อคล้ายกระดูกเสียดสีกัน บางรายอาจมีอาการเตือนล่วงหน้า เช่น รู้สึกติดขัดเมื่อขยับหัวเข่า เวลาเดินระยะใกล้ๆ แล้วรู้สึกปวด หรือเมื่อนั่งท่าเดิมนานๆ ในท่านั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ ก็รู้สีกปวดหัวเข่า เป็นต้น

ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม ได้แก่ 
  1. ผู้ที่มีอาการเท้าแบน ทำให้ลักษณะการลงน้ำหนักที่ฝ่าเท้าผิดปกติ ส่งผลให้ข้อรับน้ำหนักไม่ถูกต้อง 
  2. กลุ่มผู้สูงอายุ ที่ข้อเข่าต้องแบกรับน้ำหนักมาก 
  3. ผู้ที่เล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมที่มีการกระแทกลงน้ำหนักมาก และ 
  4. กลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหาในเรื่องโครงสร้างร่างกาย เช่น แนวกระดูกสะโพกบิด แอ่นตัวผิดปกติ เป็นต้น

วิธีการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม
สำหรับวิธีการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม มีด้วยกัน 2 วิธีคือ วิธีไม่ผ่าตัด และวิธีผ่าตัด โดยวิธีไม่ผ่าตัดนั้น มีทั้งการรักษาด้วยยาชนิดต่างๆ การทำกายภาพบำบัด การใช้อุปกรณ์เสริมช่วยเดิน และอุปกรณ์พยุงเข่า ส่วนวิธีการผ่าตัด คือการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม หรือผ่าตัดเพื่อจัดแนวกระดูกใหม่ นั่นเอง

ถ้าคุณอยู่กลุ่มเสี่ยง ควรปรับพฤติกรรมให้เหมาะสมและเริ่มใส่ใจรักษาแต่เนิ่นๆ เพื่อให้ข้อเข่าแข็งแรงและอยู่กับเรานานๆ

สำหรับผู้ที่เริ่มมีอาการของข้อเข่าเสื่อม เรามีข้อแนะนำในการรักษาด้วยตนเอง ดังนี้
  1. ให้ลดน้ำหนักตัวลง เพราะเวลาเดิน น้ำหนักจะลงที่เข่าแต่ละข้างประมาณ 3 เท่าของน้ำหนักตัว และถ้าวิ่ง น้ำหนักจะลงที่เข่าเพิ่มเป็น 5 เท่าของน้ำหนักตัว ดังนั้น ถ้าลดน้ำหนักตัวลงได้ เข่าก็จะแบกรับน้ำหนักน้อยลง การเสื่อมของเข่าก็จะช้าลงด้วย
  2. ควรนั่งบนเก้าอี้ที่สูงระดับหัวเข่า เพื่อให้เวลานั่งห้อยขาแล้วฝ่าเท้าวางราบกับพื้นพอดี ไม่ควรนั่งพับเพียบ ขัดสมาธิ คุกเข่า นั่งยอง ๆ หรือนั่งราบบนพื้น เพราะท่านั่งเหล่านี้จะทำให้ ผิวข้อเข่าเสียดสีกันมากขึ้น ข้อเข่าก็จะเสื่อมเร็วขึ้น
  3. ควรนั่งถ่ายบนโถนั่งชักโครก ไม่ควรนั่งยอง ๆ เพราะทำให้ผิวข้อเข่าเสียดสีกันมาก และเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงขา ถูกกดทับ เลือดจะไปเลี้ยงขาได้ไม่ดี ทำให้ขาชา และมีอาการอ่อนแรงได้
  4. หลีกเลี่ยงการขึ้นลงบันได การยืน หรือนั่งในท่าเดียวนาน ๆ ถ้าจำเป็นก็ให้ขยับเปลี่ยนท่าหรือขยับข้อเข่า เหยียด งอ เป็นช่วง ๆ
  5. ควรยืนตรง ให้น้ำหนักตัวลงบนขาทั้งสองข้างเท่า ๆ กัน ไม่ควรยืนเอียงลงน้ำหนักตัวบนขาข้างใดข้างหนึ่ง เพราะจะทำให้เข่าที่รับน้ำหนักมากกว่าเกิดอาการปวด และข้อเข่าโก่งผิดรูปได้
  6. ควรเดินบนพื้นราบ ใส่รองเท้าแบบมีส้นเตี้ย (สูงไม่เกิน 1 นิ้ว) หรือ แบบที่ไม่มีส้นรองเท้า พื้นรองเท้านุ่มพอสมควร และมีขนาดที่พอเหมาะเวลาสวมรองเท้าเดินแล้วรู้สึกว่ากระชับพอดี ไม่หลวมหรือคับเกินไป
  7. ไม่ควร เดินบนพื้นที่ไม่เสมอกันเช่น บันได ทางลาดเอียงที่ชันมาก หรือทางเดินที่ขรุขระเพราะจะทำให้น้ำหนักตัวที่ลงไปที่เข่าเพิ่มมากขึ้น
  8. ควรใช้ไม้เท้า เมื่อจะยืนหรือเดิน โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการปวดมากหรือมีข้อเข่าโก่งผิดรูป เพื่อช่วยลดน้ำหนักตัวที่ลงบนข้อเข่าและช่วยพยุงตัวเมื่อจะล้ม

โรคข้อเข่าเสื่อมนั้นไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ก็มีวิธีที่ทำให้อาการดีขึ้นและชะลอความเสื่อม ให้ช้าลง แต่จะทำได้มากน้อยแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับความตั้งใจของท่านเองเป็นสำคัญ

No comments:

Post a Comment