Tuesday, April 19, 2016

เตือน “ไข่มุกในชา” พาเสี่ยงมะเร็ง

เวลากระหายคงอยากได้เครื่องดื่มเย็นๆ ดับร้อนสักแก้ว โดยเฉพาะเหล่าชานมไข่มุกที่ยั่วยวนให้เข้าไปซื้อดื่มกิน เพราะนอกจากดื่มให้ชุ่มคอแล้ว ยังมีเม็ดไข่มุกให้บริหารฟันกันหนุบหนับอีกด้วย ซึ่งก็ไม่ใช่มีแต่เฉพาะชาเย็น เพราะมีเครื่องดื่มอีกหลากหลายให้เลือกไม่ว่าจะเป็น ชาเขียว โกโก้ นมเย็น หนุ่มๆ สาวๆ สมัยนี้เลยติดดื่มชาไข่มุกกันงอมแงม เพราะนอกจากความอร่อยแล้ว ยังมีให้เลือกซื้อกันแทบทุกที่ ตั้งแต่ห้างสรรพสินค้าไปจนถึงรถเข็นกันเลยทีเดียว
      
ออกตัวมาขนาดนี้ เพราะอยากจะเตือนว่าการดื่มเครื่องดื่มประเภทนี้ ไม่ได้ส่งผลดีต่อร่างกายของเราสักเท่าไหร่นัก ข้อมูลนี้ถูกเปิดเผยในงานประชุมวิชาการโภชนาการแห่งชาติ ครั้งที่ 6 โดย ผศ.ดร.เรวดี จงสุวัฒน์ หัวหน้าภาควิชาโภชนาวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล และเลขาธิการสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้เครื่องดื่มประเภทชาไข่มุกกำลังได้รับความนิยมในยุโรปรวมทั้งเยอรมนี องค์การด้านสุขภาพและนักวิจัยเยอรมนีจึงได้ออกคำเตือนการบริโภคเครื่องดื่มประเภทชาไข่มุก เพราะอาจมีกรณีสำลักเม็ดไข่มุก และตรวจพบสารก่อมะเร็งปนเปื้อน
      
ก่อนหน้านั้น ผลงานวิจัยจากประเทศเยอรมนี เปิดเผยว่า หลังการสุ่มตรวจเม็ดไข่มุกในเครื่องดื่มประเภทชาไข่มุก พบว่ามีสารก่อมะเร็งเจือปนในเม็ดไข่มุก โดยองค์การด้านสุขภาพและนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโรงพยาบาลอาร์คอน(University Hospital Aachen)ของเยอรมนี ได้ออกโรงเตือนถึงการบริโภคเครื่องดื่มประเภทชาไข่มุก ซึ่งกำลังเริ่มได้รับความนิยมในประเทศแถบยุโรปรวมทั้งเยอรมนีว่า นอกจากเครื่องดื่มเหล่านี้จะเสี่ยงก่อให้เกิดอันตรายจากการสำลักเม็ดไข่มุกแล้ว ยังตรวจพบว่าเม็ดไข่มุกเคี้ยวหนึบดังกล่าวยังมีสารเคมีประเภทโพลีคลอริเนต ไบฟีนิล หรือ PCBs(Polychlorinated Biphenyls หรือ PCBs)ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งเจือปนอยู่ด้วย
      
ทั้งนี้ ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลพิษวิทยาระบุว่า สารเคมีประเภทโพลีคลอริเนต ไบฟีนิล เป็นสารที่ละลายน้ำได้น้อยแต่ละลายในไขมันได้ดี และสลายตัวได้ยากในสิ่งมีชีวิต เมื่อเข้าสู่ร่างกายมนุษย์แล้วจะถูกขับออกได้บ้างทางอุจจาระ และปัสสาวะ ที่เหลือจะสะสมในร่างกายทีละน้อย จนเริ่มแสดงอาการของพิษ เริ่มตั้งแต่คลื่นไส้ เหนื่อย เบื่ออาหาร เกิดตุ่มฝีที่ผิวหนัง เล็บคล้ำ ฯลฯ ไปจนถึงอาการขั้นร้ายแรง คือทำให้เกิดความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์ ระบบภูมิคุ้มกัน และอาจทำให้เป็นมะเร็ง
      
นอกจากนั้น ผศ.ดร.เรวดี ยังเป็นห่วงว่า สีสวยๆ ของเครื่องดื่มนั้น ไม่ว่าจะเป็น ชาเย็น นมเย็น ชาเขียวฯ ก็อาจมีความเสี่ยงในเรื่องของการเจือปนสีผสมอาหาร ซึ่งถ้ามีสีผสมอาหารมาก ดื่มมากก็ไม่ปลอดภัยเพราะเป็นสีสังเคราะห์ แต่ขณะนี้ยังไม่พบและส่วนมากเครื่องดื่มจากชามักจะผสมสมุนไพรที่เป็นสีจากธรรมชาติมากกว่า
      
ส่วนด้านอื่นๆ นอกเหนือจากเรื่องการเจือปนของสารเคมีในเครื่องดื่มประเภทพวกชานมไข่มุกแล้วนั่นคือเรื่องของความหวาน ที่อาจส่งผลให้ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง เสี่ยงมีภาวะน้ำหนักเกินและเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน โดย ผศ.ดร.เรวดี จงสุวัฒน์ แนะว่าให้ลดปริมาณการบริโภคให้น้อยลง ควรดื่มนานๆ ครั้ง ไม่ต้องซื้อกินทุกวัน วันละหลายๆ แก้ว เพราะชาไข่มุกมีรสหวานมาก รวมถึงการดูดผ่านหลอดขนาดใหญ่ หรือหลอดจัมโบ้ อาจทำอันตรายได้เช่นกัน เมื่อดูดเข้าไปแล้วกลืนลงทันที อาจจะเกิดปัญหาไข่มุกติดค้างในระบบทางเดินหายใจได้

ส่วนต้นกำเนิดของชานมไข่มุกนั้นมาจากประเทศไต้หวัน ชื่อภาษาจีนว่า “จูเจินหน่ายฉา” แปลตามตัวว่าชานมไข่มุกนั่นเอง แต่เดิมพ่อค้าแม่ขายในตลาดสดในไต้หวันได้นำแป้งมันสำปะหลังมาทำให้ชื้น แล้วนำตะแกรงมาล่อน จนกลายเป็นเม็ดสาคูสีดำขึ้นมา แล้วก็ลองนำมาต้มสุกเพื่อใส่ไว้ในชานม พอถึงฤดูร้อนก็ทำชานมเย็น แล้วก็ใส่เม็ดสาคูนี้ลงไป จึงทำให้เกิดที่มาของเครื่องดื่มยอดฮิต
      
ชานมไข่มุกในปัจจุบัน ในไต้หวันจะมีผู้ทำเม็ดสาคูนี้เป็นแทบทุกบ้าน ต่อมาลูกหลานของพ่อค้าแม่ขายในตลาดจึงนำสาคูนี้มาทำเป็นอุตสาหกรรมส่งออกขนาดเป็นธุรกิจพันล้านไปแล้ว ส่วนคนไทยเริ่มรู้จักชานมไข่มุกหรือชาไข่มุก อย่างแพร่หลายเมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่แล้ว ต่อมาชานมไข่มุกเริ่มนำมาใส่ในเครื่องดื่มชนิดอื่น แทนชา เช่น นม โกโก้ กาแฟ หรือใส่เยลลี่เพิ่มเติมลงไปในเครื่องดื่มต่างๆ

โดย ASTV ผู้จัดการรายวัน

ที่มา : www.manager.co.th

No comments:

Post a Comment