Tuesday, October 18, 2011

โรคที่มากับน้ำท่วม “โรคน้ำกัดเท้า”


สถานการณ์น้ำท่วมในประเทศไทย ในขณะนี้ยังไม่มีท่าทีที่จะบรรเทาได้ น้ำยังคงหลากมาจากภาคเหนือ ไล่ลงมาจนนิคมอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ในประเทศในเขตรอบกรุงเทพฯ ก็จมกลายเป็นเมืองบาดาลไปหมดแล้ว ขณะนี้น้ำก็กำลังไหลเข้ากรุงเทพฯ แล้ว และระดับน้ำก็เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ คาดว่ากรุงเทพฯ ปี 2554 นี้ เห็นทีจะไม่พ้นน้ำท่วมง่ายๆ แน่

สถานการณ์ตอนนี้ เราคงทำอะไรมากไม่ได้ รัฐบาลก็ไร้ประสิทธิภาพ มีแต่ภาพประชาชนและท้องถิ่นเท่านั้น ที่จะต้องร่วมด้วยช่วยกันไป ส่วนในส่วนตัวบุคคล เราก็คงจะต้องระวังเรื่องโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ที่จะมาจากน้ำ โรคหนึ่งที่ฮิตก็คงไม่พ้น “โรคน้ำกัดเท้า”

วันนี้จึงขอนำบทความเรื่อง “โรคน้ำกัดเท้า” จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา มาเสนอให้ผู้อ่านบล็อกทุกท่านได้ทราบ เพื่อจะได้มีความรู้ที่ถูกต้อง และหาทางป้องกัน รักษาได้ทันสถานการณ์

โรคน้ำกัดเท้า

โรคน้ำกัดเท้า เกิดจากการเดินย่ำน้ำเป็นประจำ และเมื่อเท้าแช่ในน้ำนานๆ หรือเท้ามีความชื้น ทำให้ติดเชื้อโรค ซึ่งปะปนอยู่ในน้ำสกปรก จนเกิดอาการเท้าเปื่อย ลอก แดง คันและแสบ ซึ่งเรียกว่ากันว่าเป็นโรคน้ำกัดเท้า ซึ่งในระยะแรกเป็นแค่ผิวแดงลอกจากการ ระคายเคือง ในระยะนี้ ผิวหนังยังไม่มีเชื้อรา การรักษาจึง ไม่จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าเชื้อรา ซึ่งจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองและแสบมากขึ้น และระยะต่อมาเมื่อผิวหนังลอก เปื่อยเป็นแผลและชื้นอยู่นาน แล้วไปสัมผัสกับสิ่งสกปรกที่อยู่ในน้ำอีก จะทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย ซึ่งอาจจะมีการติดเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เกิดอาการอักเสบ บวมแดง เป็นหนองและปวด ต้องให้การรักษาโดยการรับประทานยาปฏิชีวนะร่วมกับการชะล้างบริเวณแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น น้ำด่างทับทิม แล้วทาด้วยยาฆ่าเชื้อ หรือยาปฏิชีวนะ

นอกจากนี้อาจจะมีการติดเชื้อราได้ โรคเชื้อราที่ซอกเท้าอาจเกิดขึ้นหลังจากน้ำกัดเท้าอยู่บ่อยๆ เป็นเวลานาน เชื้อราจะเข้าไปฝังตัวอยู่ในผิวหนัง เมื่อเป็นเชื้อราแล้วจะหายยาก ถึงแม้จะใช้ยาทาจนดูเหมือนหายดี แต่มักจะมีเชื้อหลงเหลืออยู่ เมื่อเท้าอับชื้นขึ้นเมื่อใด ก็จะเกิดเชื้อราลุกลามขึ้นมาใหม่ ทำให้เกิดอาการเป็นๆ หายๆ เป็นประจำ ไม่หายขาด

การรักษา 

ในกรณีที่เป็นโรคน้ำกัดเท้าระยะที่มีอาการเท้าเปื่อย ลอก แดง คันและแสบ การรักษาในระยะนี้ควรใช้ยาทาสเตียรอยด์อ่อนๆ ไม่จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าเชื้อรา ซึ่งจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองและแสบมากขึ้น หรืออาจจะใช้ยารักษากลากเกลื้อน ของยาชุดสามัญประจำบ้าน ใช้ทาวันละ 3 ครั้ง จนกว่าจะหาย โดยก่อนทายาให้ล้างเท้าให้สะอาดและใช้ผ้าเช็ดให้แห้งเสียก่อน แต่หากมีการอักเสบอย่างรุนแรง และเรื้อรัง ทายาไม่ได้ผล อาจต้องพบแพทย์ ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง ซึ่งอาจจะมีผลข้างเคียงต่อตับไต และควรรักษาอย่างต่อ เนื่อง ไม่ควรหยุดใช้ยาเองแม้ว่าจะดีขึ้น การหยุดยาเร็วเกินไปขณะที่เชื้อยังไม่หมด มีโอกาสกลับเป็นซ้ำอีกได้ง่าย

การป้องกัน

หากจำเป็นต้องย่ำน้ำควรใส่รองเท้าบู๊ท หรือถ้าไม่ใส่ควรทาขี้ผึ้งวาสลินให้ทั่วเท้า ทั้งนิ้วเท้าและง่ามนิ้วด้วย เมื่อเลิกย่ำน้ำควรรีบถอดรองเท้า แล้วเช็ดขี้ผึ้งออกให้หมดและล้างเท้าด้วยน้ำสะอาดทันที หลังจากนั้นซับและผึ่งเท้าให้แห้ง หรือ ถ้าจำเป็นต้องย่ำน้ำโดยไม่ได้ใส่รองเท้าบู๊ท หลังจากย่ำน้ำแล้วควรรีบล้างเท้าทำความสะอาด แล้วเช็ดให้แห้งโดยเฉพาะตามซอกนิ้วเท้า หากเท้ามี บาดแผล ควรชะล้างด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ก็จะช่วยป้องกันโรคน้ำกัดเท้าได้ สำหรับการดูแลป้องกันโรคเชื้อราที่เท้าไม่ให้กลับเป็นซ้ำอีก โดย การรักษาความสะอาดให้เท้าแห้งอยู่เสมอ ล้างน้ำฟอกสบู่ และเช็ดเท้าให้แห้ง และให้ความสนใจเป็นพิเศษที่บริเวณซอกนิ้วเท้า

ด้วยความปรารถนาดีจาก
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา
ฝ่ายสุขศึกษาและประชาสัมพันธ์
โทร. 0-7432 –6091 ต่อ 205 และ0-7431 –3292

No comments:

Post a Comment