Tuesday, October 18, 2011

โรคที่มากับน้ำท่วม “โรคน้ำกัดเท้า”


สถานการณ์น้ำท่วมในประเทศไทย ในขณะนี้ยังไม่มีท่าทีที่จะบรรเทาได้ น้ำยังคงหลากมาจากภาคเหนือ ไล่ลงมาจนนิคมอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ในประเทศในเขตรอบกรุงเทพฯ ก็จมกลายเป็นเมืองบาดาลไปหมดแล้ว ขณะนี้น้ำก็กำลังไหลเข้ากรุงเทพฯ แล้ว และระดับน้ำก็เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ คาดว่ากรุงเทพฯ ปี 2554 นี้ เห็นทีจะไม่พ้นน้ำท่วมง่ายๆ แน่

สถานการณ์ตอนนี้ เราคงทำอะไรมากไม่ได้ รัฐบาลก็ไร้ประสิทธิภาพ มีแต่ภาพประชาชนและท้องถิ่นเท่านั้น ที่จะต้องร่วมด้วยช่วยกันไป ส่วนในส่วนตัวบุคคล เราก็คงจะต้องระวังเรื่องโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ที่จะมาจากน้ำ โรคหนึ่งที่ฮิตก็คงไม่พ้น “โรคน้ำกัดเท้า”

วันนี้จึงขอนำบทความเรื่อง “โรคน้ำกัดเท้า” จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา มาเสนอให้ผู้อ่านบล็อกทุกท่านได้ทราบ เพื่อจะได้มีความรู้ที่ถูกต้อง และหาทางป้องกัน รักษาได้ทันสถานการณ์

โรคน้ำกัดเท้า

โรคน้ำกัดเท้า เกิดจากการเดินย่ำน้ำเป็นประจำ และเมื่อเท้าแช่ในน้ำนานๆ หรือเท้ามีความชื้น ทำให้ติดเชื้อโรค ซึ่งปะปนอยู่ในน้ำสกปรก จนเกิดอาการเท้าเปื่อย ลอก แดง คันและแสบ ซึ่งเรียกว่ากันว่าเป็นโรคน้ำกัดเท้า ซึ่งในระยะแรกเป็นแค่ผิวแดงลอกจากการ ระคายเคือง ในระยะนี้ ผิวหนังยังไม่มีเชื้อรา การรักษาจึง ไม่จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าเชื้อรา ซึ่งจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองและแสบมากขึ้น และระยะต่อมาเมื่อผิวหนังลอก เปื่อยเป็นแผลและชื้นอยู่นาน แล้วไปสัมผัสกับสิ่งสกปรกที่อยู่ในน้ำอีก จะทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย ซึ่งอาจจะมีการติดเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เกิดอาการอักเสบ บวมแดง เป็นหนองและปวด ต้องให้การรักษาโดยการรับประทานยาปฏิชีวนะร่วมกับการชะล้างบริเวณแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น น้ำด่างทับทิม แล้วทาด้วยยาฆ่าเชื้อ หรือยาปฏิชีวนะ

นอกจากนี้อาจจะมีการติดเชื้อราได้ โรคเชื้อราที่ซอกเท้าอาจเกิดขึ้นหลังจากน้ำกัดเท้าอยู่บ่อยๆ เป็นเวลานาน เชื้อราจะเข้าไปฝังตัวอยู่ในผิวหนัง เมื่อเป็นเชื้อราแล้วจะหายยาก ถึงแม้จะใช้ยาทาจนดูเหมือนหายดี แต่มักจะมีเชื้อหลงเหลืออยู่ เมื่อเท้าอับชื้นขึ้นเมื่อใด ก็จะเกิดเชื้อราลุกลามขึ้นมาใหม่ ทำให้เกิดอาการเป็นๆ หายๆ เป็นประจำ ไม่หายขาด

การรักษา 

ในกรณีที่เป็นโรคน้ำกัดเท้าระยะที่มีอาการเท้าเปื่อย ลอก แดง คันและแสบ การรักษาในระยะนี้ควรใช้ยาทาสเตียรอยด์อ่อนๆ ไม่จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าเชื้อรา ซึ่งจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองและแสบมากขึ้น หรืออาจจะใช้ยารักษากลากเกลื้อน ของยาชุดสามัญประจำบ้าน ใช้ทาวันละ 3 ครั้ง จนกว่าจะหาย โดยก่อนทายาให้ล้างเท้าให้สะอาดและใช้ผ้าเช็ดให้แห้งเสียก่อน แต่หากมีการอักเสบอย่างรุนแรง และเรื้อรัง ทายาไม่ได้ผล อาจต้องพบแพทย์ ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง ซึ่งอาจจะมีผลข้างเคียงต่อตับไต และควรรักษาอย่างต่อ เนื่อง ไม่ควรหยุดใช้ยาเองแม้ว่าจะดีขึ้น การหยุดยาเร็วเกินไปขณะที่เชื้อยังไม่หมด มีโอกาสกลับเป็นซ้ำอีกได้ง่าย

การป้องกัน

หากจำเป็นต้องย่ำน้ำควรใส่รองเท้าบู๊ท หรือถ้าไม่ใส่ควรทาขี้ผึ้งวาสลินให้ทั่วเท้า ทั้งนิ้วเท้าและง่ามนิ้วด้วย เมื่อเลิกย่ำน้ำควรรีบถอดรองเท้า แล้วเช็ดขี้ผึ้งออกให้หมดและล้างเท้าด้วยน้ำสะอาดทันที หลังจากนั้นซับและผึ่งเท้าให้แห้ง หรือ ถ้าจำเป็นต้องย่ำน้ำโดยไม่ได้ใส่รองเท้าบู๊ท หลังจากย่ำน้ำแล้วควรรีบล้างเท้าทำความสะอาด แล้วเช็ดให้แห้งโดยเฉพาะตามซอกนิ้วเท้า หากเท้ามี บาดแผล ควรชะล้างด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ก็จะช่วยป้องกันโรคน้ำกัดเท้าได้ สำหรับการดูแลป้องกันโรคเชื้อราที่เท้าไม่ให้กลับเป็นซ้ำอีก โดย การรักษาความสะอาดให้เท้าแห้งอยู่เสมอ ล้างน้ำฟอกสบู่ และเช็ดเท้าให้แห้ง และให้ความสนใจเป็นพิเศษที่บริเวณซอกนิ้วเท้า

ด้วยความปรารถนาดีจาก
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา
ฝ่ายสุขศึกษาและประชาสัมพันธ์
โทร. 0-7432 –6091 ต่อ 205 และ0-7431 –3292

Wednesday, October 5, 2011

เล่นคอมพิวเตอร์มาก ระวังเป็นไหลตาย

แต่ก่อนนี้เมื่อเอ่ยถึง "โรคไหลตาย" หลาย ๆ คนต้องนึกถึงอาการที่คนเรานอนหลับแล้วตายไปเสียเฉย ๆ ซึ่งนั้นก็ถูก ถ้าเป็นเมื่อก่อนเราจะพบว่าคนที่เป็นโรคนี้มักจะเป็นพวกใช้แรงงานมาก ๆ ทำงานหนัก ๆ กินอาหารมื้อหนัก ๆ หรือดื่มแอลกอฮอร์แบบไม่บันยะบันยัง แต่ปัจจุบันนี้โลกได้เปลี่ยนไปแล้ว

โรคไหลตายนั้นพบว่าสามารถเกิดขึ้นกับเหล่านักเลงคีย์บอร์ดและเซียนเก็บ Level ต่าง ๆ ได้เช่นกัน ซึ่งคนที่เข้าข่ายซุ่มเสี่ยงนั้นได้แก่ คนที่อยู่กับเครื่องคอมพิวเตอร์นาน ๆ โดยอาจจะมัวแต่เล่นเกมส์ไม่ยอมหลับยอมนอน ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานาน ทำให้ทานอาหารไม่เป็นเวลา และขาดสารอาหารหรือวิตามินบางตัวในที่สุด บางคนอาจจะมีโรคโดยไม่ทราบสาเหตุร่วมด้วย เป็นพวกลืมวันเวลา สายตาจดจ้องอยู่แต่กับตัวหนังสือที่หน้าจอ หรือ ที่ตัวเกมส์มากกว่าดูวันเวลาที่มุมล่างขวา และท้ายที่สุดคือมีอาการเสพติดคอมพิวเตอร์

ทำอย่างไรจึงจะรู้ว่าติดคอมพิวเตอร์


ก็เมื่อคุณมีอาการผลัดเวลา ประเภท น่า ..... เล่นอีกสิบนาที จากเดิมที่อีกสิบนาที 4 ทุ่ม กลายเป็นเลิกอีกสิบนาทีตีสี่อันนี้ถือว่าเข้าข่าย หรือ เป็นพวก กระวนกระจาย ทำอะไรก็หงุดหงิด ทุกสิ่งทุกอย่างดูขัดตาไปเสียหมด เมื่อคุณไม่เล่นคอมพิวเตอร์เพียงแค่วันเดียว และโลกแทบถล่มหากคุณรู้ว่าโมเด็มเสีย อันนี้เข้าข่ายแล้วนะคะ

วิธีแก้ไขง่าย ๆ 

- - - > จำกัดเวลาในการใช้ซะ หากคุณควบคุมตวเองได้ก็ดีไป แต่หากคิดว่าไม่ได้แน่ ๆ ลองให้คนอื่นเข้าช่วย ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่พี่น้องหรือคนใกล้ชิด ยิ่งผู้ปกครองทั้งหลายละเลยไม่ได้เลยนะคะ

- - - > ใช้ไฮสปีด อินเตอร์เนตซะ เพราะว่าจะได้ประหยัดเวลากว่าแบบ ไดออล ส่วนใหญ่คนที่เล่นแบบไดออลแล้วเข้าข่ายติดอินเตอร์เนตมักจะบอกว่า เนตช้าเล่นยังไม่ถึงใจเลย ขอเล่นต่ออีกหน่อยก็แล้วกัน เป็นประจำ

- - - > ออกกำลังเป็นประจำ เพราะการออกกำลังกายนั้นถือเป็นยาวิเศษแก้ คนติดอินเตอร์เนต ทำคนให้เป็นคน (เอ๊ะ ... คุ้น ๆ )

- - - > ทานอาหารให้ตรงเวลาและทานแต่ของที่มีประโยชน์ให้ครบทั้ง 5 หมู่

- - - > หมั่นไปตรวจเช็คสุขภาพเป็นประจำ

- - - > จัดชีวิตให้พอดี พยายามอย่ายึดติดกับโลกไซเบอร์เกินควร และควรให้ความสำคัญกับโลกความเป็นจริงให้มากที่สุด

สำหรับคนที่โตเป็นผู้ใหญ่แล้ว ต้องรู้จักหักห้ามใจตัวเองนะคะ ส่วนใครที่มีลูกมีหลานก็อย่าละเลยปล่อยให้คอมพิวเตอร์เลี้ยงเด็ก ๆ เพราะว่าพวกเขายังเด็กเกินกว่าที่จะแยกแยะได้ว่าอะไรควรทำตามอะไรควรหลีกเลี่ยงค่ะ ถ้าบ้านไหนให้ลูกเล่นอินเตอร์เนตที่บ้านควรตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ในที่ ๆ ทุก ๆ คนในบ้านสามารถเดินผ่านไปมาได้ จะได้ช่วยกันสอดส่องได้ทั่วถึง

หรือหากให้ไปเล่นตามร้านต้องคอยจับเวลา หากเขาไม่กลับมาตามเวลาที่กำหนดต้องไปตามทุกครั้งอย่าคิดว่าอีกเดี๋ยวก็กลับนะคะ ไม่อย่างนั้นเขาจะชินจนกลายเป็นไม่กลับบ้านไปเลยได้นะคะ

Tuesday, October 4, 2011

วิธีดูแลตัวเองจากการทำงานหน้าคอมพิวเตอร์

เคยนับดูเล่นๆ ไหมคะว่า วันหนึ่งๆ เราต้องอยู่หน้าคอมพิวเตอร์วันละกี่ชั่วโมง เมื่อไม่นานมานี้ พนักงานหญิงของออฟฟิศแห่งหนึ่งในมณฑลหูเป่ย ประเทศจีน นิยมสวมหน้ากากกันทั่วออฟฟิศ เพราะต้องนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์วันละ 4-5 ชั่วโมง สำหรับคนทำงานอย่างเราๆ ฟังแล้วก็ได้เวลาสังเกตตัวเองแล้วว่า มีปัญหาสุขภาพบ้างหรือเปล่า ลองมาเช็คอาการ พร้อมกับดูอาหารที่ช่วยฟื้นฟูร่างกายกันเลยค่ะ

ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนล้า กล้ามเนื้อเกร็ง ตึง

-ควรรับประทานบร็อกโคลี่ ปลากินทั้งกระดูก เพราะมีแคลเซียมที่จำเป็นต่อการสื่อสารระหว่างเซลล์ประสาท และต่อการเกร็งคลายกล้ามเนื้อ และควรรับประทาน ผักโขม ถั่วเปลือกแข็ง เมล็ดทานตะวัน จมูกข้าวสาลี ที่มีแมกนีเซียม ช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย

ตาอ่อนล้า ตาพร่ามัว

-ควรรับประทาน คะน้า พริก ผักปวยเล้ง มันเทศ ผักหวานบ้าน ตำลึง เพราะมีลูเทอินและซีแซนทิน ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเสื่อมของศูนย์จอตา ลดความเสี่ยงของการเกิดจอประสาทตาเสื่อมตาได้ นอกจากนี้ควรรับประทาน แครอท ผักปวยเล้ง ฟักทอง เพราะมี เบตาแคโรทีน มีส่วนช่วยป้องกันการเสื่อมของศูนย์จอตา

มีปัญหาผิวหน้า

- หากมีปัญหาผิวหน้า เช่น มีริ้วรอยเหี่ยวย่น และสงสัยเหมือนสาวๆ ที่ประเทศจีนว่า อาจเกิดจากรังสีจากคอมพิวเตอร์ ควรรับประทาน ผักผลไม้สีสดทุกชนิด เพื่อเพิ่มสารต้านออกซิเดชั่น นอกจากนี้ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ และรับประทานอาหารเย็นที่ย่อยง่าย และรสไม่จัด เพื่อช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานไม่หนัก ทำให้เริ่มวันใหม่อย่างสบายตัว

ที่มา ชีวจิต

Monday, October 3, 2011

เคล็ดลับการถนอมดวงตาเวลาใช้คอมพิวเตอร์

สำหรับคนที่วันๆ ต้องนั่งทำงานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ คงต้องเกิดอาการปวดตา ตามัว ตาแห้ง สายตาล้า หรืออาการทางสายตาอื่นๆ กันบ้าง ปัจจุบันอาการทางสายตาที่เกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์มีเพิ่มขึ้น จากสถิติพบว่า ผู้ใช้คอมพิวเตอร์จำนวนมากกว่า 50% มีอาการปวดตา ตามัว ตาแห้ง สายตาล้า และปวดศรีษะ รวมทั้งมีอาการอื่นๆ เช่น ปวดเหมื่อยคอและหลัง ซึ่งอาการเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นกับผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์มากกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน และยังมีตัวแปรอีกหลายประการที่ทำร้ายสายตาของเรา เช่น ชนิดของจอคอมพิวเตอร์ แสงสะท้อนจากจอคอมพิวเตอร์ ความสว่างของห้อง ท่านั่ง ฯลฯ

เคล็ดลับเพื่อถนอมดวงตาเวลาใช้คอมพิวเตอร์

1. กระพริบตาให้ถี่ขึ้น อาการตาแห้ง เกิดจากการที่เรากระพริบตาน้อยลง เนื่องจากมีสมาธิขณะทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ อัตราการกระพริบตาจะลดลงจาก 20 - 22 ครั้งต่อนาที เหลือเพียง 6 - 8 ครั้งต่อนาที ถ้าไม่อยากตาแห้ง ควรจะกระพริบตาให้ถี่ขึ้น หรืออาจใช้น้ำตาเทียมหยอดตา เพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น

2. จัดวางคอมพิวเตอร์ให้เหมาะสม
ให้ บริเวณหน้าต่างอยู่ทางด้านข้างของจอคอมพิวเตอร์ เพื่อลดแสงตกสะท้อนบนหน้าจอ ควรจัดให้มีระยะห่างระหว่างจอภาพกับตัวเราประมาณ 50 - 70 ซ.ม. จัดระดับจอภาพจากจุดศูนย์กลางของจอคอมพิวเตอร์ ให้อยู่ต่ำกว่าระดับสายตาประมาณ 4 - 9 นิ้ว ไม่ควรให้จอภาพอยู่สูงหรือต่ำเกินไป

3. ปรับความสว่างของห้อง ควรปิดไฟบางดวงที่ทำการรบกวนการทำงาน เพราะปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากความสว่างที่มากเกินไป ถ้ามีแสงจ้าจากหน้าต่าง ควรใช้มูลี่เพื่อปรับแสงให้ผ่านได้เพียงบางส่วน และไม่เข้าตาโดยตรง หลีกเลี่ยงการใช้เฟอร์นิเจอร์ที่มีผิวสะท้อน เช่น โต๊ะสีขาว ควรใช้วัสดุที่มีผิวด้าน ที่สะท้อนแสงไม่มากจะดีกว่า

4. เลือกใช้ตัวอักษรขนาดใหญ่ เวลาพิมพ์งาน ควรเลือกใช้ขนาดของตัวอักษรที่ใหญ่พอ และปรับความเข้มของตัวอักษรให้มากขึ้น ซึ่งขนาดตัวอักษรและความเข้มที่เหมาะสมจะสังเกตได้จากการที่เราอ่านตัวอักษร ได้ในระยะห่างเป็น 3 เท่าของระยะที่นั่งทำงาน หรือเลือกใช้จอคอมพวิเตอร์ชนิด LCD (จอแบน) ซึ่งจะช่วยถนอนสายตาได้ดีกว่าจอแบบเก่า (CRT)

5. เลือกใช้แว่นที่เหมาะสมกับการใช้คอมพิวเตอร์ ควรเลือกใช้เลนส์สีเขียวอ่อน ที่ช่วยให้สบายตาภายใต้แสงจากหลอดไฟฟ้าฟลูออเรสเซนต์ และเพื่อลดแสงสะท้อนจากจอภาพ โดยเลือกแว่นตาที่มีกำลังขยายสำหรับระยะ 50 - 70 ซ.ม. (ระยะกลาง) ซึ่งค่ากำลังของเลนส์ดังกล่าวจะแตกต่างจากเลนส์อ่านหนังสือ หรือเลนส์มองใกล้ทั่วไป
 
6. พักสายตา ทุกๆ ชั่วโมง ควรเปลี่ยนอริยาบถ หรือลุกขึ้นยืดเส้นยืดสายบ้าง เพื่อพักสายตาและป้องกันอาการปวดเมื่อยจากการใช้คอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็น เวลานาน



ที่มา Fwd Mail

ท่าบริหารหลังการนวดแบบแพทย์แผนไทยประยุกต์

(โดย อาจารย์ ณรงค์สักข์  บุญรัตนหิรัญ)

ท่าบริหารคอ
1. นั่งบนเตียงหรือม้านั่ง
2. แขนข้างหนึ่งอยู่ข้างลำตัวชิดต้นขา งอข้อศอกเล็กน้อย พร้อมกับยึดตึงขอบม้านั่งไว้
3. แขนอีกข้างหนึ่งชูขึ้นเหนือศีรษะ โดยงอข้อศอกเป็นมุมฉาก พร้อมกับกำมือ
4. ออกแรงดึงมือตามข้อ 2 พร้อมกับกำมือตามข้อ 3 พร้อมกันประมาณ 1 อึดใจ แล้วคลายแขนและมือทั้ง 2 ข้าง

(ดูรูปประกอบ)

   - เลื่อนมือที่ยึดขอบม้านั่งให้ห่างออกจากตำแหน่งเดิมประมาณ 1 ฝ่ามือ แล้วทำซ้ำเหมือนเดิม ตามข้อ 1
   - เลื่อนมือที่ยึดขอบม้านั่งออกไปอีกประมาณ 1 ฝ่ามือ แล้วทำซ้ำเหมือนเดิม ตามข้อ 2
   - บริหารอีกข้างหนึ่ง ตามขั้นตอนข้อ 1, 2 และ 3

(ดูรูปประกอบ)

คำแนะนำ
1. ถ้าเอียงคอแล้วหูไม่ติดไหล่ หรือเมื่อเงยหน้าแล้วไม่เห็นเพดานเหนือหัว ไม่แนะนำให้ทำท่าบริหารนี้ อาจเกิดอันตรายได้
2. หลังจากทำท่าบริหารดังกล่าวแล้ว ห้ามทำการบิด ดัด สลัดแขนและคอ
3. ท่าบริหารนี้ ทำทุกวัน เช้า-เย็น ข้างละ 3 รอบ

 (ดูรูปประกอบ)

ท่าบริหารหัวไหล่ ข้อศอก ข้อมือ และนิ้วมือ
มีท่าบริหาร 2 ท่า สำหรับใช้บริหารคู่กัน คือ
1. ท่าดึงแขน 3 จังหวะ
2. ท่าเท้าแขน 3 จังหวะ

วิธีบริหาร ท่าดึงแขน 3 จังหวะ
1. ผู้ป่วยนั่งบนเตียงหรือม้านั่ง ใช้มือข้างที่เจ็บบริหาร โดยดึงขอบม้านั่ง งอศอกเล็กน้อย ข้อมือตรง ออกแรงดึงนานประมาณ 1 อึดใจ แล้วคลายมือออกช้าๆ
2. เลื่อนมือที่เท้าแขนให้ห่างออกไปอีก 1 ฝ่ามือ แล้วทำซ้ำตามข้อ 1
3. เลื่อนมือที่เท้าแขนให้ห่างออกไปอีก 1 ฝ่ามือ แล้วทำซ้ำตามข้อ 2

(ดูรูปประกอบ)

วิธีบริหาร ท่าเท้าแขน 3 จังหวะ
1. ผู้ป่วยนั่งบนเตียงหรือม้านั่ง ใช้มือข้างที่เจ็บบริหาร โดยการเท้าลงบนม้านั่งให้แขนชิดลำตัว ข้อศอกเหยียดตรง แล้วโถมทิ้งน้ำหนักตัวลงไปที่ฝ่ามือ
2. เลื่อนมือที่เท้าแขนให้ห่างออกไป 1 ฝ่ามือ แล้วทำซ้ำตามข้อ 1
3. เลื่อนมือที่เท้าแขนให้ห่างออกไป 1 ฝ่ามือ แล้วทำซ้ำตามข้อ 2

(ดูรูปประกอบ)

คำแนะนำ
1. ถ้าไม่สามารถเอามือเท้าเอวได้อย่างปกติ ไม่แนะนำให้ทำท่าบริหารนี้ อาจเกิดอันตรายได้
2. หลังจากทำท่าบริหารนี้แล้ว ห้ามทำการบิดดัด สลัดแขน ทำท่าบริหารดึงแขน 3 จังหวะ และเท้าแขน 3 จังหวะนี้ทุกวัน เช้า-เย็น

ท่าบริหารอาการปวดหลัง ปวกเข่า
วิธีบริหาร
1. ยืนกางขาให้ใกล้เคียงกับความกว้างของหัวไหล่ตัวเอง และหาที่ยึดเกาะให้มั่นคง

(ดูรูปประกอบ)

2. ค่อยๆ ย่อตัว ย่อก้นลง ให้ก้นถึงส้นเท้า โดยไม่เขย่งปลายเท้า

(ดูรูปประกอบ)

3. ทำท่าบริหารต่อจากข้อ 2 โดยค่อยๆ ยกตัวขึ้น โดยให้หัวเข่างอเป็นมุมฉาก ส้นเท้าติดพื้นนิ่งนาน 1 อึดใจ แล้วค่อยๆ หย่อนก้นลงเพื่อเตรียมพร้อมตามข้อ 2

(ดูรูปประกอบ)

คำแนะนำ
1. ถ้านั่งยองๆ ลงถึงพื้นไม้ไม่ได้ ไม่แนะนำให้ทำท่าบริหารนี้ อาจเกิดอันตรายได้
2. หลังจากทำท่าบริหารนี้แล้ว ห้ามทำการบิด ดัด สลัดขา
3. ทำท่าบริหาร เช้า-เย็น ทุกวัน ครั้งละ 3 เที่ยว

ท่าบริหารอาการปวดหลัง ปวดขา และปวดข้อเท้า
วิธีบริหาร
1. ยืนตัวตรง หาที่ยึดเกาะให้มั่นคง

(ดูรูปประกอบ)

2. งอขาข้างที่ไม่เจ็บขึ้น ขาอีกข้างยืนเน้นข้อเข่าให้ตรง

(ดูรูปประกอบ)

3. เขย่งส้นเท้าขึ้นให้นานประมาณ 1 อึดใจ แล้ววางเท้าลง

(ดูรูปประกอบ)

คำแนะนำ
1. ถ้าเขย่งเท้าขึ้นไม่ได้ ไม่แนะนำให้ทำท่าบริหารนี้ อาจเกิดอันตรายได้
2. หลังจากทำท่าบริหารนี้แล้ว ห้ามทำการบิด ดัด สลัดขา
3. ทำท่าบริหาร เช้า-เย็น ทุกวัน ครั้งละ 5 เที่ยว

ที่มา: คลินิกอายุรเวทแพทย์แผนไทยประยุกต์ มูลนิธิฟื้นฟูส่งเสริมการแพทย์ไทยเดิมฯ